ส.ศิวรักษ์
จาก บทบรรณาธิการ ศิลปวัฒนธรรม
ฉบับวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ (ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๐) หน้า ๖๔
(ถอดเทปและตัดตอนจากปาฐกถาในงาน ทศวรรษแห่งการจากไปของพุทธทาส
วันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ)
ท่านอาจารย์พุทธทาส เห็นว่าในสมัยของท่าน มีการสอนเรื่องนรกสวรรค์และชาติก่อนชาติหน้ามากแล้ว ท่านจึงมาเน้นที่ปรมัตถธรรมและปัจจุบันธรรมเป็นแกนกลาง หากท่านไม่เคยปฏิเสธเรื่องวัฏสงสารเอาเลย อย่างน้อยรูปกาลจักร หรือสังสารจักรจากทิเบต รูปแรกที่เขียนขึ้นในเมืองไทยก็ที่ในสวนโมกข์นั้นเอง
ในสมัยของท่านอาจารย์ การละอัตตาและลดบทบาทในเรื่องนรกสวรรค์เสียนั้น อาจเหมาะกับยุคสมัย หากสมัยนี้เราคงต้องกลับไปที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของเราด้วยจึงจะควร แม้ท่านอาจารย์พุทธทาสจะไม่เห็นด้วย ก็เป็นสิทธิของท่าน เราควรเคารพท่านเป็นอย่างยิ่ง แต่เราก็มีสิทธิที่จะคิดให้แผกไปจากท่านด้วย
โดยเฉพาะก็ในเรื่องเนื้อหาสาระของชาดกต่างๆ ตลอดจนเทวดานางฟ้า และนรกสวรรค์ การใช้ภาษาคนและภาษาธรรม จากคำสอนของท่านพุทธทาสมาตีประเด็นเหล่านี้ นับว่าสมควรอยู่
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ ก็ตรงที่การวางท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับถ้อยคำนั้นๆ และสภาวะต่างๆ ของสัตวะต่างๆ และภาวะต่างๆ ที่เรามองไม่เห็น รับรู้ไม่ได้ด้วยวิธีวิทยาของวิทยาศาสตร์อย่างฝรั่ง อย่าไปด่วนสรุปว่าอะไรๆ เป็นเรื่องของสวรรค์ในอก นรกในใจ อยู่ที่ในเวลานี้ เดี๋ยวนี้เท่านั้น เพราะความวิเศษมหัศจรรย์ในทางรหัสยนัยนี้แลคือ สถานภาพอันพิเศษของทุกศาสนา รวมพุทธศาสนาด้วย เพราะจากรหัสยนัยในทางจิตสิกขานี้แล ที่เราจะเข้าได้ถึงปัญญาสิกขา และนั่นก็คือเนื้อหาของวิโมกขธรรม สมกับชื่อของสวนโมกข์อย่างแท้จริง
เชื่อว่าท่านอาจารย์จะพอใจในแนวคิดที่แหวกออกไปอย่างเข้าใจความปรารถนาดีของทุกๆ คน และถ้าเราใช้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อย่างที่ Institute of Mind Science จัดสัมมนา โดยนำนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำมามีวิสาสะกับพุทธศาสนิกชั้นนำ ที่เข้าถึงทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ แล้วเบิกบัญชรในทางรหัสยนัยให้เข้าถึงได้ ทั้งทางจิตสิกขาและทางวิทยาศาสตร์ฝ่ายนามธรรม นี่จะสำคัญยิ่งนัก จะช่วยให้เราเข้าถึงความเข้าใจในเรื่องตายแล้วเกิด และในเรื่องของเทวดานางฟ้าต่างๆ ดังที่ทางทิเบตเขามีนางธารา ทักขิณี มหากาฬ ศัมภาละ ฯลฯ
ถ้าเราเข้าใจสัญลักษณ์เหล่านี้อย่างวางท่าทีที่ถูกต้อง เราย่อมอาจนำเอาบุคลาธิษฐานนั้นๆ มาเป็นปัจจัยในการแสวงหาธรรมจนเข้าถึงธรรมาธิษฐาน และไปพ้นสัมปรายิกัตถะ จนเข้าถึงปรมัตถะได้ด้วยซ้ำไปผู้ที่อ้างตนว่านับถือพุทธศาสนาในเมืองไทยนั้น ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเนื้อหาสาระของพุทธธรรม เพราะ
๑. การอบรมบ่มนิสัยเยาวชนตามแบบโบราณ ซึ่งมีวัดกับบ้านอิงอาศัยกันและกัน มีพระและบิดามารดา ปู่ย่าตายาย เป็นแบบอย่างในทางวัฒนธรรมนั้น ได้ตายไปแล้วเกือบหมดสิ้น
๒. การสอนพุทธศาสนาโดยโรงเรียนนั้น คือการฆ่าสาระแห่งพระธรรม รวมทั้งการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม ที่จัดขึ้นแต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาจนการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็เช่นกัน ยิ่งการสอนพุทธศาสนาทางสื่อมวลชนด้วยแล้ว ให้แง่ลบยิ่งกว่าแง่บวกแทบทั้งนั้น
๓. เมื่อบุคลากรฝ่ายพุทธจักรอ่อนแอ ไสยเวทวิทยาย่อมมีอำนาจเหนือพุทธธรรม โดยที่ไสยเวทวิทยาอย่างใหม่คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอกุศลมูลอย่างใหม่คือ เงิน (โลภะ) อำนาจ (โทสะ) และวิธีวิทยาอย่างฝรั่งที่เรารับเข้ามาสมาทานอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (โมหะ) พุทธศาสนาจึงกลายไปเป็นพุทธพาณิชย์ ชาวพุทธชั้นนำจึงนับถือเงินและอำนาจ ตลอดจนอวิชชาต่างๆ อย่างเหนียวแน่น
๔. ผู้ที่ตั้งตัวเป็นพุทธศาสนิกสมัยใหม่ ต้องการให้เป็นพุทธศาสนามีค่าเท่ากับวิทยาศาสตร์ ให้พระพุทธเจ้าเป็นเพียงยอดของนักปราชญ์เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีล่วงมาแล้ว แล้วพุทธศาสนาจะมีคำตอบสำหรับสังคมปัจจุบันได้อย่างไร
นี่ยกมาเพียง ๔ ประเด็น และถ้าเราตีประเด็นเหล่านี้ได้ไม่แตก โดยเฉพาะก็ข้อล่าสุด อย่าว่าแต่พุทธทาสเลย แม้พระพุทธเจ้าก็คงมีคุณค่าเพียงเฉพาะตนเท่านั้น ดังคำแปลบทรับไตรสรณคมน์กันตามพิธีกรรมของวัดต่างๆ นั้น ยังมีความเพียงว่า "ข้าพเจ้าขอรับเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่ง เครื่องกำจัดภัยได้จริง" แต่ถ้าจะยึดตามคำแปลนี้ ก็ต้องตีความในเรื่อง "เครื่องกำจัดภัยได้จริง" ให้ถึงแก่น เพราะถ้าเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริงแล้ว ภัยหรือความกลัวใดๆ ย่อมปลาสนาการไปได้สิ้น แม้จนความกลัวตาย กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย กลัวความไม่มั่นคงในชีวิต กลัวความเหงา กลัวการขาดคนรัก กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับสภาพของตน นี่เป็นความกลัวในทางส่วนตัว
ยังความกลัวทางสังคมนั้นเล่า โดยเฉพาะก็ความกลัวที่เกิดจากการเอาเปรียบโดยรัฐและบรรษัทข้ามชาติ การมอมเมาจากสื่อสารมวลชน ให้สบยอมกับโลกาภิวัตน์ แทนที่จะภูมิใจในคุณธรรมดั้งเดิม
การที่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงสามัญมนุษย์ที่ดับขันธ์ไปแล้วนั้น นับว่าอันตรายมาก เพราะเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงพบอาชีวกคนแรกระหว่างทาง เขาทูลถามสถานะของพระองค์ว่าเป็นมนุษย์หรือ เทวดาหรือ ฯลฯ ทรงตอบว่าไม่ใช่ทั้งสองสถาน หากตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ได้โดยพระองค์เอง ถ้าเราตีประเด็นนี้ไม่แตกจะเป็นมิจฉาทิฐิได้ง่าย
ถ้าเราอ่านพระไตรปิฎกดูดีๆ จะเห็นว่า ในสถานะหนึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ เสด็จดับขันธ์ด้วยพระโรคาพาธ แม้จะทรงระงับความทุกข์ทางกายได้เหนือสามัญมนุษย์ก็ตาม และในบางสถานะก็ทรงสภาพเหนือสามัญมนุษย์ เช่น เมื่อทรงแสดงพระปฐมเทศนาจบลงนั้น เทวดาทั้งหมื่นโลกธาตุพากันมาถวายอภิวาท แซ่ซ้องสาธุการ แม้เมื่อจะปรินิพพานก็มีเทวดาจากหลายชั้นฟ้ามาเฝ้า เราจะหาว่าพระคันถรจนาจารย์เติมข้อความพวกนี้เข้าไปภายหลังกระนั้นหรือ ยังการที่ทรงสอนให้แผ่ส่วนกุศลแด่เปรตเล่า เป็นเรื่องเหลวไหลกระนั้นหรือ หรือจะว่านี่เป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ตามวิธีวิทยาของฝรั่ง
อย่างน้อยทางมหายานอธิบายได้ชัดเจนเรื่องพระนิรมาณกายของพระพุทธเจ้า ที่คนธรรมดาสามัญก็แลเห็นและรับรู้ได้ นอกจากนี้ก็ยังมีพระสัมโภคกาย ที่รับรู้ได้แต่พระโพธิสัตว์ทั้งหลายและเทวดาชั้นสูงเท่านั้น โดยที่สำคัญสุดนั้นคือพระธรรมกาย แม้จะไม่ต้องไปถึงคำสอนของฝ่ายมหายาน พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระองค์ ก็ทรงประกอบไปด้วยทศพลญาณและอภิญญา ตลอดจนอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ อย่างที่สามัญมนุษย์ไม่อาจรับรู้ได้โดยตรรกะ หรือหัวสมอง หากเข้าถึงได้ด้วยจิตสิกขา นี้แลคือความวิเศษมหัศจรรย์ของพระพุทธานุภาพ ซึ่งแสดงออกได้ทั้งทางพระกรุณาคุณ ดังทางมหายานแสดงธรรมาธิษฐานในข้อนี้ ให้เป็นบุคลาธิษฐานในรูปของอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (ดังองค์ที่ไชยานั้นงามยิ่งนัก) หรือเจ้าแม่กวนอิม และทางพระปัญญาคุณ ซึ่งแสดงออกในทางบุคลาธิษฐาน ให้เป็นพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ เป็นต้น
ถ้าเข้าใจเนื้อหาสาระอันเป็นเลิศของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว การสมาทานพระรัตนตรัยย่อมช่วยให้เกิดศรัทธาปสาทะอย่างมั่นคงในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และสังฆคุณ จนเราย่อมอาจสามารถแปรเปลี่ยนความกลัวไปได้ ให้กลายเป็นความกล้าหาญเบิกบาน เราสามารถเปลี่ยนความโลภไปได้ ให้เป็นทาน การให้ ตั้งแต่ให้วัตถุทาน อามิสทาน จนธรรมทาน และในที่สุดคืออภัยทานกล่าวคือเราสละความกลัวต่างๆ เสียได้ โดยมีความกล้าหาญอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนมาแทนที่ เพื่อรับใช้สรรพสัตว์ ยิ่งกว่ารับใช้ตนเอง
เมื่อเปลี่ยนโลภะและราคะให้มาเป็นทานได้แล้ว เราก็ย่อมแปรเปลี่ยนโทสะหรือโกธะให้มาเป็นความเมตตา กรุณา ความรักในทางราคะอย่างหึงหวง อย่างเต็มไปด้วยดำกฤษณา กลายมาเป็นความรักอย่างลดความเห็นแก่ตัว จนเอาชนะความเห็นแก่ตัวได้ กามฉันทะแปรไปได้เป็นธรรมฉันทะ ด้วยการรักตนเองและคนรอบๆ ตนอย่างเข้าอกเข้าใจ อย่างไม่พยาบาทปองร้าย (เมตตา) แล้วรักคนที่ยากไร้ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างพร้อมที่จะรับความเดือดร้อนลำเค็ญร่วมกับเขา (กรุณา) และหาทางออกจากทุกข์ภัยนั้นๆ ด้วยความร่วมมือของกันและกัน โดยมีพุทธธรรมเป็นแกนนำ โดยเข้าใจด้วยว่าคนที่กดขี่ข่มเหงเรา ล้วนทำไปด้วยอคติ ด้วยอวิชชา และด้วยโครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรม จึงไม่จำเป็นที่เราจะอิจฉาชนชั้นบน หรือคนที่กดขี่ข่มเหงเรา (มุทิตา) และถ้าเรายังหาทางออกได้ไม่ชัด หรืออะไรๆ ก็แก้ไขปัญหาได้แล้ว เราก็ตั้งจิตไว้ให้เป็นกลาง อย่างไม่เข้าข้างใคร ใช้เวลาภาวนาอย่างเป็นกลางทางธรรมชาติ (อุเบกขา) เพื่อให้เกิดความงอกงามด้วยอหิงสธรรม สำหรับตัวเราและสังคมรอบๆ เรา จนถึงสังคมวงกว้างอย่างหาประมาณมิได้
จากจุดนี้แหละที่เราอาจแปรสภาพจากโมหะหรืออวิชชามาให้กลายเป็นปัญญา ด้วยอาศัยความเข้าใจในเรื่องการอิงอาศัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่ง อย่างไม่มีตัวกูของกู หรือกูกับมึง หากเป็นการโยงใยกันของความเป็นเช่นนั้นเอง
ถ้าเราสามารถเจริญธรรมได้ดังที่บรรยายมา ก็เท่ากับว่าเรานำทาสของพระพุทธเจ้ากลับมาให้เป็นตัวแปร ที่จะช่วยเราแต่ละคน และช่วยสังคมวงกว้าง ให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างแท้จริง นี้แลคือคำตอบที่พุทธศาสนาจะให้ได้กับสังคมไทยร่วมสมัยกล่าวคือว่า พุทธศาสนามีอะไรๆ ที่ลึกซึ้ง และมีแนวทางที่ไปพ้นความรุนแรง และความมืดบอด อย่างมองเห็นเป็นเขาเป็นเรา เราดี เขาเลว หากเป็นการเอื้ออาทรต่อกันและกัน ไม่แต่ในหมู่มวลมนุษย์ หากรวมตลอดจนถึงสรรพสัตว์